กว่าจะเป็นจุลไหมไทย
กว่า 80 ปี ที่กำนันจุล คุ้นวงศ์ ได้อพยพครอบครัว เพื่อทำธุรกิจการเกษตร ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่ทำการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จนทำให้กลายเป็นแหล่งปลูกส้มเขียวหวานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศขณะนั้น
จนในปี 2501 ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ไร่ส้มในจังวัดเพชรบูรณ์ เกิดโรครากเน่าระบาด ต้นส้มล้มตายทั้งจังหวัดไม่มีทางแก้ไขหรือฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ กำนันจุลและครอบครัวก็มิได้ย่อท้อได้พยายามมองหาอาชีพโดยยึดหลักสำคัญ 3 ประการ คือ
1. ต้องเป็นอาชีพเกษตรที่มีอุตสาหกรรมรองรับ
2. ต้องเป็นอาชีพที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนหมู่มาก
3. ต้องเป็นอาชีพที่ทำได้ยาก
และเห็นว่า อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และสาวไหมเส้นยืน เป็นอาชีพที่ทำได้ยาก ก่อเกิดประโยชน์แก่คนในพื้นที่ และมีอุตสากรรมรองรับ ซึ่งถือว่าเหมาะสมตรงตามหลักในการทำธุรกิจของครอบครัวที่กำนันจุลได้กำหนดไว้มากที่สุด
ปี 2511 ได้ก่อตั้ง บริษัท จุลไหมไทย จำกัด เพื่อผลิตรังไหม พร้อมกับจัดตั้งโรงงานสาวไหม และยังเป็นธุรกิจหลักจนถึงปัจจุบัน เราส่งเสริมอาชีพเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และ ผลิตเส้นไหมคุณภาพทดแทนการนำเข้าอีกด้วย
“จุลไหมไทย” เราทำอะไร
จุลไหมไทยได้ทุ่มเทการทำงานเพื่อผลิตเส้นไหมคุณภาพมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ ซึ่งเบื้องหลัง ความสำเร็จของเราเกิดจากความใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอนของการผลิตเส้นไหมด้วยแนวคิด “From Soil to Silk” เราสามารถควบคุมการผลิตเส้นไหมได้ครับวงจรตั้งแต่
1. การพัฒนาสายพันธุ์ไหมที่เหมาะสมกับภูมิอากาศแต่ละฤดูของประเทศไทย โดยบริษัทร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่น
2. การพัฒนาสายพันธุ์หม่อนร่วมกับกรมหม่อนไหมกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการเจริญเติบโตของตัวไหม
3. การส่งเสริมเกษตรกรหม่อนไหมกว่า 2,000 ครอบครัว ใน 26 จังหวัดทั่วประเทศไทย ให้มีความรู้ความสามารถ และมีความมั่นคงในอาชีพ ผ่านมูลนิธิจุลไหมไทยซึ่งก่อตั้งด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์
4. การสาวเส้นไหมเราสามารถผลิตเส้นไหมได้หลากหลายรูปแบบ ด้วยเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น และความสามารถในการผลิตมากกว่า 250 ตันต่อปี ถือเป็นโรงงานสาวไหมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน
และด้วยความเชี่ยวชาญในการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ประกอบกับความสามารถในการควบคุมการผลิตเส้นไหมแบบครบวงจร จึงทำให้จุลไหมไทยได้รับการรับรองให้เป็นผู้ผลิตเส้นไหมออร์แกนิคภายใต้มาตรฐาน GOTS (Global Organic Textile Standard)
เส้นไหมออร์แกนิคของเราผ่านกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทุกขั้นตอนจะได้รับการควบคุมในพื้นที่ดูแลเฉพาะ (In House) และจะถูกเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถสืบย้อนกลับได้ การใช้ผ้าไหมที่ผลิตจากเส้นไหมออร์แกนิคของเรา จึงมั่นใจได้ในความปลอดภัยต่อผู้สวมใส่และการได้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
“จุลไหมไทยภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดไหมไทยซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก
นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนาสังคม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย”
เกษตรกรของเรา
จุลไหมไทยมีเกษตรกรสมาชิกกว่า 2,000 ครอบครัว ใน 26 จังหวัดทั่วประเทศไทย มีเจ้าหน้าส่งเสริมดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด และมีบริการเลี้ยงไหมวัยอ่อน เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ และมีรายได้ที่ดีขึ้น
หลังจากที่จุลไหมไทยดำเนินธุรกิจมาได้ 19 ปี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความมั่นคงในอาชีพให้เกษตรกร จนกระทั่งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 ได้ก่อตั้ง “มูลนิธิจุลไหมไทย” ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยได้รับสนับสนุนแบบให้เปล่าจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในการก่อตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม” ให้กับเกษตรกรที่สนใจเข้าสู่อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อที่เกษตรกรจะได้มีความรู้ความเข้าใจในการประกอบอาชีพนี้มากยิ่งขึ้น
ปี 2557 มูลนิธิจุลไหมไทย ได้จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาไหมไทย” ด้วยความตั้งใจเดิมที่จะช่วยสร้างความมั่นคงในอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้กับเกษตรกร โดยขยายความช่วยเหลือจากเดิมที่จำกัดอยู่แค่เพียงเกษตรกร ไปสู่การช่วยเหลือทุกคนที่เกี่ยวข้องในวงการไหมไทย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งระบบ โดยจะทำการศึกษาวิจัย เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของไหมไทย
กองทุนพัฒนาไหมไทย มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหม่อนไหม และผู้ทอผ้าไหม โดยพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และผลิตสินค้า/ไหมไทย ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น และช่วยส่งเสริมการตลาดและอาชีพหม่อนไหมให้อยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป